ผู้เขียน หัวข้อ: 5 สิ่งผิดปกติควรสังเกตของรถใกล้จะพัง  (อ่าน 4609 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

admin

  • Administrator
  • Newbie
  • *****
  • กระทู้: 25
    • ดูรายละเอียด
อุปกรณ์การทำงานของชิ้นส่วนในรถมอเตอร์ไซค์มีวันหมดอายุหรือเสื่อมสภาพ โดยแต่ละอย่างมักจะเสียหรือเริ่มมีอาการเตือนผู้ขับให้รู้เป็นระยะ แต่บางครั้งก็อาจจะไม่ทำงานเอาซะดื้อๆ เลยก็มี เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีความรู้เบื้องต้น และรู้อาการเตือนเหล่านั้นเอาไว้บ้างก็ดีนะครับ เพื่อความปลอดภัย และสามารถวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายให้เพียงพออีกด้วย

1.   สตาร์ตติดยาก
เมื่อสตาร์ตเครื่อง จะมีอาการเหมือนสตาร์ตติด แต่ก็สำลักดับไป หรือติดอยู่สักพักก็ดับ หรือไม่ติดเลย บางครั้งกดปุ่มสตาร์ตก็ไม่มีเสียงการหมุนของเครื่องยนต์ (กรณีสตาร์ตไฟฟ้า) ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จาก
ระบบเชื้อเพลิง : เชื้อเพลิงอาจเหลือแค่ระดับก้นถัง ไม่พอที่จะไหลลงระบบฉีดน้ำมัน, รั่วซึมทำให้แรงดันตก (กรณีเป็นระบบหัวฉีด), น้ำมันท่วมหรือหนาเกินไป (กรณีเป็นคาร์บูเรเตอร์), ไส้กรองเชื้อเพลิงอุดตัน/สกปรก, น้ำมันผิดประเภท/ไม่สะอาด, ระบบหัวฉีดหรือนมหนูคาร์บูเรเตอร์จ่ายน้ำมันอุดตัน, เครื่องมีอุณหภูมิต่ำเกินไป เป็นต้น
ระบบไฟ : อาจเกิดจากหัวเทียนสกปรก, สายหัวเทียนชำรุด, ระบบจานจ่ายชำรุด, มอเตอร์สตาร์ตกำลังไม่พอ (ระบบสตาร์ตไฟฟ้า) เป็นต้น
วิธีแก้ไขเฉพาะหน้า : สตาร์ตด้วยเท้าให้เว้นระยะแล้วค่อยลองอีกครั้ง อาจต้องทำบ่อยให้เครื่องวอร์มจากอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป (ระบบสตาร์ตไฟฟ้าไม่ควรกดสตาร์ตแช่นานเกินไปเพราะแบตเตอรี่อาจหมด) ตวรจระดับน้ำมันในถัง, อาจใช้วิธีเขย่ารถช่วยในกรณีที่มีอุปกรณ์บางอย่างเกี่ยวกับน้ำมันเชิ้อเพลิงอุดตัน เป็นต้น และรีบนำรถเข้าศูนย์บริการหรือร้านซ่อมทันที

2.   กลิ่นและควัน
ให้ลองสังเกตกลิ่นแปลกๆ ที่ลอยมาในส่วนต่างๆ ของรถว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น กลิ่นไหม้, กลิ่นน้ำมันเบนซิน เป็นต้น ซึ่งอาจมีระบบไฟฟ้าลัดวงจรในบางจุด หรือเกิดการรั่วซึมของระบบท่อทางเดินของน้ำมันเชื้อเพลิง
ส่วนควันมักจะมาพร้อมกับกลิ่น เช่น เมื่อมีจุดที่ไฟฟ้าลัดวงจรมักจะมีควันลอยตามมาด้วย หากเป็นเช่นนี้ยิ่งง่ายต่อการตรวจเช็คด้วยตาเปล่า จากจุดที่ควันนั้นลอยออกมาครับ
วิธีแก้ไขเฉพาะหน้า : จอดในที่ปลอดภัยและดับเครื่องยนต์ทันที รีบนำรถเข้าศูนย์บริการหรือร้านซ่อม และในระหว่างรอให้หาจุดที่มีควันให้เจอเพื่อระงับเปลวไฟหรือชิ้นส่วนต่างๆ ที่อาจเกิดการลุกไหม้ได้ หากพอมีความรู้เรื่องช่างอยู่บ้าง ควรถอดขั้วแบตเตอรี่ออกไว้ก่อนครับ

3.   แฮนด์หนัก ล้อแกว่ง
เมื่อขับอยู่จะรู้สึกว่าต้องออกแรงในการดึงแฮนด์ให้ตรงมากกว่าปกติ เช่น ต้องออกแรงดันแฮนด์ไปทางขวาจนรู้สึกเมื่อยล้า อาจเป็นเพราะศูนย์ของตัวรถ (ล้อหน้า/หลังไม่ได้ศูนย์) หรือแฮนด์ล้อหน้าเอียงซ้ายมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยล้า นอกจากนี้ อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ เมื่อขับผ่านอุปสรรคต่างๆ อย่างรวดเร็วจนทำให้บังคับแฮนด์ไม่สะดวก สาเหตุอาจเกิดจากขับผ่านถนนที่สภาพเป็นหลุมบ่อด้วยความเร็วสูงบ่อยๆ, รถล้ม, แฮนด์คด หรือบรรทุกหนักเกินไป เป็นต้น
ส่วนอาการ "แกว่ง" นั้น เมื่อใช้ความสูงๆ รถจะสะเทือนสั่นเป็นเจ้าเข้า สาเหตุอาจเกิดจากวงล้อที่ "คด" หรือบิดเบี้ยวไม่กลมทำให้เมื่อหมุนแล้วไม่สมดุล จึงเกิดการสั่นสะเทือนขึ้น 
วิธีแก้ไขเฉพาะหน้า : ใช้ความเร็วต่ำและรีบนำรถเข้าศูนย์บริการหรือร้านซ่อมเพื่อตรวจเช็คอาการอย่างละเอียดพร้อมแก้ไขซ่อมแซมให้มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด

4.   กระเด้งกระดอน
อาการกระเด้งกระดอนนี้ เกิดจากระบบกันสะเทือนที่ชำรุดหรือเสื่อมคุณภาพ อาการที่เกิดขึ้นคือ รถจะกระเทือนเมื่อตัวรถมีช่วงยุบมากเกินไปจน "โช้กยัน" หรือตัวรถกระเด้งขึ้น-ลงมากผิดปกติ สาเหตุอาจเกิดจากหลายกรณี เช่น โช้กแตก/รั่ว, แกนโช้ก "คด/งอ"  เป็นต้น ซึ่งจะมีผลให้การควบคุมรถทำได้แย่ลง โดยเฉพาะเมื่อขับผ่านเนินหรือคอสะพาน รถอาจจะยุบตัวจนใต้ท้องกระแทกพื้นได้ และยังส่งผลเมื่อต้องการขับผ่านทางโค้งอีกด้วย ให้สังเกตรอย, คราบของเหลว (น้ำมันโช้ก) ที่ส่วนแกนโช้ก หรือรอยหยดที่ตัวกระบอกโช้กว่ามีหรือไม่
วิธีแก้ไขเฉพาะหน้า : ขับด้วยความระมัดระวัง ใช้ความเร็วต่ำ และรีบนำรถเข้าตรวจเช็คระบบช่วงล่าง เช่น เปลี่ยนโช้ก, สปริง, อัดน้ำมันแก้ไขจุดที่รั่วใหม่

5.   เร่งสะดุด
อาการนี้ดูเหมือนจะเบากว่าการสตาร์ตไม่ติด แต่ที่จริงแล้วนั้น อาจมีความผิดปกติของระบบเครื่องยนต์อยู่ แม้ว่าเครื่องยนต์จะสามารถทำงานได้ แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่งเครื่องยนต์ก็ดับ และที่รายแรงกว่านั้นอาจถึงขั้นเครื่องน็อกไปเลยก็ได้ ให้ลองสังเกตก่อนว่า อาการการเร่งไม่ออกหรือไม่ขึ้นนั้นมาพร้อมเสียงแปลกๆ หรือไม่ เช่น มีเสียงดังคล้ายลมรั่วหรือดังแกร็กๆ ซึ่งเสียงแต่ละแบบจะแสดงถึงความผิดปกติแตกต่างกันไป หรือมีเสียงของไฟสปาร์ค (ลัดวงจร) หรือไม่ และสุดท้ายให้ดูถึงระบบเบรกว่าติดขัดหรือไม่ (อาจมาจากลูกสูบเบรก/ดรัมเบรกที่หมดสภาพ) ส่งผลให้มีความหนืดจนเครื่องยนต์ทำงานหนักเกินไปและเร่งไม่ขึ้นนั่นเอง และนำข้อ 1,2 มาใช้ควบคู่กัน รวมทั้งทดลองเข็นรถเปล่าไปข้างหน้าดูว่ามีความฝืดหรือไม่
 
วิธีแก้ไขเฉพาะหน้า : ให้ใช้ความเร็วต่ำที่สุดและหาที่จอดเมื่อปลอดภัย, รีบนำรถเข้าศูนย์บริการหรือร้านซ่อมเพื่อตรวจเช็คแก้ไขโดยละเอียดอีกครั้ง 
หากผู้ขับใส่ใจในสุขภาพของมอเตอร์ไซค์ เพียงเพิ่มความช่างสังเกตอีกสักนิด ก็จะช่วยให้คุณประหยัดทั้งเรื่องของเงิน และเวลา อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ตัวเองมากยิ่งขึ้น เพราะสาเหตุของรถที่เสียหรืออุปกรณ์พังก่อนเวลาอันควรมักมาจากการที่ผู้ใช้รถลืมตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง นอกจากนี้ ก็ยังมีอาการอื่นๆ อีกมากมายที่ผู้ใช้รถต้องหมั่นคอยสังเกตให้เป็นนิสัย เพื่อความปลอดภัย อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนอย่าลืมกลับไปสังเกตรถมอเตอร์ไซค์ของตัวเองกันดูนะครับ ก่อนที่รถของเราจะพังไปเสียก่อน



ขอบคุณที่มาจาก : checkraka.com